ประวัติ ของ เอียวหู (หยาง หยง)

เอียวหูเป็นชาวเมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) ในมณฑลเกงจิ๋ว ซึ่งอยู่บริเวณนครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน เอียวหูเป็นคนในตระกูลเดียวกันเอียวหงี ได้ติดตามเล่าปี่เข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ได้รับตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น) และตำแหน่งนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ของจูกัดเหลียง[2] ทั้งเอียวหูและเอียวหงีอาศัยอยู่ริมแม่น้ำไกซุย (沔水 เหมี่ยนฉุ่ย) โดยเอียวหงีอาศัยอยู่ต้นน้ำและเอียวหูอาศัยอยู่ปลายน้ำ[3]

ในช่วงที่เอียวหูเป็นนายทะเบียนของจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก เอียวหูเห็นจูกัดเหลียงตรวจสอบบัญชีด้วยตนเอง จึงแนะนำจูกัดเหลียงอย่างตรงไปตรงมาว่า "การปกครองรัฐก็เฉกเช่นเดียวกับการปกครองบ้าน มีการระบบจัดการและการแบ่งหน้าที่ให้ทำเป็นที่แน่นอน ยกตัวอย่างในการปกครองบ้าน บ่าวไพร่มีหน้าที่ทำนา หญิงรับใช้มีหน้าที่ทำอาหาร ไก่มีหน้าที่ขัน สุนัขมีหน้าที่เฝ้าบ้านป้องกันผู้ร้าย วัวมีหน้าที่บรรทุกของ และม้ามีหน้าที่ควบทางไกล แต่ละคนมีหน้าที่ของตนเอง แบ่งสรรปันส่วนอย่างชัดเจน เจ้านายจึงพักผ่อนได้อย่างสงบ อยู่กินได้อย่างสบายใจ หากลงมือจัดการทุกอย่างด้วยตนเอง โดยไม่แบ่งงานให้ทำ ก็มีแต่จะทำให้ตัวเองเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ ในท้ายที่สุดก็ไม่สำเร็จการใด ๆ ความสามารถและสติปัญญาของนายท่านเทียบไม่ได้กับบ่าวไพร่ ไก่ และสุนัขไม่ใช่หรือ เทียบไม่ได้เลย แต่นายท่านกลับกระทำขัดกับหลักการของผู้เป็นนาย" เอียวหงียังยกตัวอย่างอุทาหรณ์จากกรณีของปิ่ง จี๋ (丙吉) และตันแผง (陳平 เฉินผิง) เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแบ่งงานและความรับผิดชอบ จูกัดเหลียงขอบคุณเอียวหูสำหรับความคิดเห็นนี้[4]

ต่อมาเอียวหูได้เป็นขุนนางสำนักตะวันออก (東曹屬 ตงเฉาฉู่) ทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้ารับราชการ เอียวหูเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จูกัดเหลียงเสียใจอย่างมากและร้องไห้เป็นเวลา 3 วัน[5] ในช่วงเวลาเดียวกัน ล่าย สฺยง (賴厷) บุตรชายของล่าย กง (賴恭) ผู้เป็นเสมียนของสำนักตะวันตก (西曹令史 ซีเฉาลิ่งฉื่อ) ก็เสียชีวิตเช่นกัน จูกัดเหลียงเขียนจดหมายถึงเตียวอี้และเจียวอ้วนว่า "เหล่าขุนนางได้สูญเสียล่าย สฺยง ส่วนเหล่าขุนทหารก็สูญเสียเอียวหู นี่เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของราชสำนัก" [6]